ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

BOH1-01 : ทรัพย์สิน และหลังบ้านของโรงแรม


สำหรับโรงแรมที่พักขนาดเล็ก หลังบ้านจะช่วยจัดการงานอย่างไร?

ผู้ประกอบกิจการขนาดเล็กถึงขนาดกลางมีข้อจำกัดด้านการลงทุนที่แตกต่างกัน แต่เราไม่ควรนำข้อจำกัดนั้นมาเป็นข้ออ้าง "การไม่ลงมือทำ" เพราะไม่มีความเกี่ยวข้องอะไรกันแต่อย่างใด

เราลองมาดูตัวอย่างการทำทะเบียนทรัพย์สินและจดบันทึกรายการเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆของแต่ละแผนกกันว่า ทำไมจึงเป็นปัญหาและมักเป็นข้ออ้าง ข้อหลีกเลี่ยงของพนักงานแม้กระทั่งในระดับหัวหน้างานเองที่มักจะเลือกที่จะทำรายการนี้ในลำดับหลังๆ  ถ้าพบเห็นพนักงานที่มีลักษณะเช่นนี้ แนะนำให้พิจารณาทบทวนใหม่เพราะไม่ใช่คุณสมบัติของพนักงานฝ่ายบัญชีการเงินที่ดีแต่อย่างใด

การทำทะเบียนทรัพย์สินและการจดบันทึกรายการซื้อเครื่องมือเครื่องใช้ควรเริ่มลงมือทำตั้งแต่โครงการเริ่มก่อสร้างโดยแยกออกให้ชัดเจนระหว่างการก่อสร้าง การเตรียมการก่อนเปิด และเมื่อโรงแรมเปิดให้บริการ

สำหรับโรงแรมที่ไม่ได้มีการสั่งซื้อระบบบันทึกข้อมูลด้านทรัพย์สินสำหรับแผนกบัญชี ก็ไม่มีอะไรต้องกังวล เราสามารถทำรายการจดบันทึกได้โดยจัดเป็นหมวดหมู่ให้ชัดเจน จะจดบันทึกลงในสมุดและคั่นด้วยกระดาษแบ่งเป็นหัวข้อ หรือจะทำการบันทึกข้อมูลลงในตารางเอ๊กเซล (Excel Sheet) และแบ่งหมวดหมู่ในแต่ละแทปก็ทำได้เช่นกัน  แต่มักจะมีข้ออ้างต่างๆนานาที่ไม่ยอมลงมือทำ จนทำให้รายการพอกพูนเป็นจำนวนมาก และเมื่อจะต้องมาจัดทำก็เกิดความเบื่อหน่ายที่จะมานั่งทำ  เพราะฉนั้นอย่ารอให้พอกพูน ถ้าทำวันละนิดวันละหน่อย ก็ไม่ต้องมานั่งลำบากจัดทำรายการทีละมากๆ

การบันทึกข้อมูลด้วยตารางเอ๊กเซล สามารถทำได้ง่ายๆ ทำแบบมีรูปอ้างอิง สร้างตัวเลขรหัสอ้างอิงของทรัพย์สินแต่ละหมวด แต่ละหมู่ ก็จะช่วยให้ข้อมูลเป็นระบบมากข้าง  และถ้าจะบันทึกให้ข้อมูลละเอียดมากขึ้น ก็ควรบันทึกรายละเอียดร้านค้าที่ซื้อมาด้วย พร้อมเบอร์ติดต่อ บุคคลที่ติดต่อ เพื่อเวลาจะต้องจัดซื้อครั้งต่อไปจะได้มีข้อมูลอ้างอิง

ส่วนโรงแรมที่มีการสั่งซื้อระบบการบันทึกรายการทรัพย์สิน (Asset Control) หรือระบบการจัดซื้อ สั่งซื้อ (Purchase Request/Purchase Order) มาแล้ว ประเด็นมีเพียง "การลงมือใช้งาน" ปัญหาเช่นเดียวกัน คือลงทุนซื้อระบบมาด้วยราคาแพง แต่ไม่ใช้งานให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่ากับการลงทุน เพราะไม่มีการกำหนดตัวชี้วัดหรือ KPI ให้กับฝ่ายบัญชีและการเงินในเรื่องนี้ว่าจะต้องทำรายการบันทึกทรัพย์สิน เครื่องมือ เครื่องใช้ อุปกรณ์ต่างๆในโรงแรมให้ครบถ้วนและปรับปรุงข้อมูลประจำปีอย่างถูกต้อง  ดังนั้นจึงมีหลายโรงแรมที่ประสบปัญหาเช่นนี้ และเมื่อมีการตรวจสอบบัญชี ก็จะต้องมีการมานั่งทำรายการกันอย่างมโหฬาร

ระบบมักถูกออกแบบมาให้สามารถเก็บข้อมูลได้มากมาย แต่อยู่ที่การใช้งาน การเก็บข้อมูลว่าได้มีการป้อนข้อมูลเข้าในระบบเพื่อประมวลผลหรือไม่  ถ้าไม่มีการป้อนข้อมูลเข้าระบบ แน่นอน ระบบก็ไม่มีอะไรจะให้ทำงาน เพราะฉนั้น ประเด็นหรือต้นเหตุ จึงอยู่ที่ตัวพนักงาน และหัวหน้าหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบว่าจะกำกับทีมงานให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ อย่างไร

ระบบสมัยใหม่ ตั้งแต่การจัดซื้อ สั่งซื้อ การรับสินค้า สามารถใส่รายละเอียดได้มากมาย แต่มักจะไม่ใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่

ถ้าทุกโรงแรมให้ความสำคัญกับเรื่องทรัพย์สินและการจดบันทึกข้อมูลอย่างเข้มข้นแล้ว จะช่วยลดการสูญเสีย ลดค่าใช้จ่ายที่สิ้นเปลือง หรือไม่จำเป็นได้อย่างมาก โดยเฉพาะสำหรับโรงแรมที่พักขนาดเล็กที่ความสามารถในการสร้างรายได้โดยเปรียบเทียบกับโรงแรมขนาดใหญ่ที่มีความแตกต่างกัน หากโรงแรมขนาดเล็กไม่หันมาลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ไม่จดบันทึกรายการต่างๆให้ละเอียด ไม่มีบันทึกรายการของแตกหักเสียหาย ไม่มีบทลงโทษพนักงานที่ไม่ปฏิบัติตาม แน่นอน ความเสียหายที่เกิดขึ้นในหลักร้อยในแต่ละเดือน จะกลายเป็นหลักพักในหลายเดือน และกลายเป็นหลักหมื่น หรือหลายหมื่นในแต่ละปี เมื่อถึงเวลาที่เราต้องทำงบประมาณประจำปี และมีรายการเครื่องมือ เครื่องใช้ อุปกรณ์ต่างๆที่เราต้องซื้อใหม่มากมายโดยไม่จำเป็น

อีกคำถามที่มักถามกันคือ เครื่องมืออุปกรณ์บางอย่างเราควรจะซื้อ หรือเช่า ?

ประเด็นนี้จริงๆแล้วขึ้นอยู่กับสถานการเงินของแต่ละโครงการว่าในแต่ละโรงอยู่ในช่วงเวลาอะไร บางโรงอาจมีความจำเป็นเร่งด่วนต้องใช้เงินจำนวนมากในจังหวะเวลาที่จะต้องซื้ออุปกรณ์นั้นพอดี ก็อาจจะเปลี่ยนมาเป็นการเช่าไปก่อนได้ และเมื่อฐานะทางการเงินพร้อม ก็ค่อยมาพิจารณาเปรียบเทียบว่าการซื้อขาดจะมีประโยชน์ หรือข้อดีข้อเสียอย่างไร ที่สำคัญคือการเปรียบเทียบเงื่อนไขการให้บริการหลังการขาย

บางคนมักคิดแค่การเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นแต่ละเดือนจากการเช่า กับราคาของสินค้าเมื่อซื้อขาด อันนี้ก็สะท้อนอะไรบางอย่าง จริงๆแล้วยังมีปัจจัยอื่นๆที่เข้ามาเกี่ยวข้องอีกมากมาย ยกตัวอย่างเช่น อุปกรณ์บางอย่างต้องอาศัยช่างที่มีความชำนาญในการซ่อมแซมดูแล แต่โดยโครงสร้างของโรงแรมของคุณ อัตรากำลังของช่างมีแค่เพียงการจ้างช่างทั่วไปที่ทำได้เฉพาะงานเล็กๆน้อยๆ ไม่มีงบประมาณจ้างช่างในระดับหัวหน้าช่าง อันนี้ก็เป็นอีกประเด็นที่ควรนำมาคิดพิจารณา หรือเงื่อนไขการให้บริการหลังการขาย เช่น การมีเครื่องให้ใช้ทดแทนหากต้องส่งเครื่องเก่าซ่อม การรวมค่าใช้จ่ายอื่นๆเช่น ค่าวัสดุสิ้นเปลือง ซึ่งมักจะรวมอยู่ในอัตราค่าเช่าอยู่แล้ว เป็นต้น

แค่ลงมือทำ ตามหน้าที่ของแต่ละคน ทุกอย่างก็จะราบรื่น


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เปลี่ยนผ่านที่แตกต่าง

สำ หรับโครงการสร้างใหม่ ไม่ว่าจะเป็นโฮสเทล บูติกโฮเต็ล โรงแรม หรือรีสอร์ท สิ่งที่แตกต่างอย่างชัดเจนกับโครงการก่อสร้างอื่นๆ คือช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างโครงการก่อสร้าง มาเป็นโรงแรมที่พักที่พร้อมให้บริการต้อนรับลูกค้า สิ่งที่ควรทำความเข้าใจเพื่อให้เห็นภาพตั้งแต่เริ่มการก่อสร้างโครงการคือ ลำดับช่วงเวลา และเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น ไปจนถึงภาพต่างๆที่จะได้เห็นร่วมกัน  ทั้งทีมผู้ออกแบบ ผู้รับเหมาก่อสร้าง เจ้าของโครงการ และทีมงาน เพื่อให้ทุกฝ่ายตระหนักในหน้าที่และกรอบเวลาที่กำหนดอย่างเคร่งครัดเพื่อให้โครงการสำเร็จตามกำหนดและตามเป้าหมายที่วางไว้ ยกตัวอย่างเช่น โครงการก่อสร้าง 8 เดือน แบ่งเป็น - งานฐานราก 2 เดือน - งานโครงสร้างสถาปัตยกรรมพื้นที่ส่วน A  รวม 2 เดือน - ห้องตัวอย่าง (เลือกพื้นที่และห้องที่ต้องการใช้เป็นห้องตัวอย่าง) ภายในเดือนที่ 4 เพื่อให้ทางทีมขายและทีมการตลาดสามารถเตรียมงานด้านการขายและการตลาดได้อย่างเต็มที่ มีเวลาแนะนำโครงการให้กับคู่ค้าต่างๆได้อย่างทั่วถึง - พื้นที่ส่วนสำนักงาน (BOH - Back of the House) เป็นลำดับต่อมา อาจเป็นเดือนที่ 5 เพื่อเตรียมรับสมัครงาน เตรีย...

วางแผนการใช้จ่าย

การจัดการด้านการเงินของโรงแรมที่พักขนาดเล็ก ไม่ว่าจะกี่ห้อง 4 ห้อง 15 ห้อง 35 ห้อง เป็นสิ่งจำเป็น อย่าไปคิดว่าโรงแรมที่พักขนาดเล็กไม่มีความจำเป็นต้องจัดทำงบประมาณ วางแผนค่าใช้จ่าย  ต้องแยกประเด็นให้ถูกเวลาเราพูดถึงจัดทำงบประมาณ  อย่าไปกังวลกับรูปแบบว่าจะต้องมีรูปแบบตารางเหมือนเช่นกับโรงแรมขนาดใหญ่  เจ้าของกิจการหลายท่านมักมีข้อกังวลตรงนี้ เพราะเวลาเข้าร่วมสัมนาหรือไปฟังบรรดาผู้รู้ทั้งหลายอธิบาย แล้วนำตัวอย่างตาราง หรือรายงานของโรงแรมขนาดใหญ่มาแสดงให้ดู  ก็เลยถอดใจตั้งแต่ยังไม่เริ่มต้น   เปลี่ยนความคิดใหม่ และเริ่มจากในสิ่งที่เราทำได้ในแบบของเรา แล้วค่อยๆพัฒนาให้มีความละเอียดมากขึ้น การนั่งดูแต่รายรับหรือขาเข้าที่เข้ามาในแต่ละวัน โดยที่ไม่เคยมีการจัดระเบียบทั้งฝั่งค่าใช้จ่าย หรือขาออก เมื่อกิจการเติบโตมากขึ้น ความสลับซับซ้อน หรือจำนวนรายการก็จะมากขึ้น แต่ถ้าเราจัดหมวดหมู่รายการให้เป็นกลุ่มเป็นประเภทให้ชัดเจน เพื่อที่เราจะได้รู้สถานะของเรา จะทำให้เราสามารถบริหารจัดการ และรู้ได้ว่า ตรงไหนเราจะสามารถปรับ ตัด ลดได้โดยไม่กระทบกับส่วนอื่นๆของโรงแรม อาจจะเริ่มจากง่า...